|
Q1 : กรณีที่บุคลากรจะลาศึกษาในระดับที่สูงขึ้น โดยศึกษาในเวลาราชการ ต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง |
กรณีที่บุคลากร ประสงค์จะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยศึกษาในเวลาราชการเต็มเวลา บุคลากรที่ประสงค์จะลาศึกษาจะต้องมีคุณสมบัติตามความในข้อ 7 แห่งประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี เรื่อง การให้บุคลาการของมหาวิทยาลัยไปศึกษาหรือฝึกอบรม พ.ศ. 2558 เมื่อตรวจสอบแล้วว่าตนเป็นผู้มีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์แล้ว จะต้องรายงานให้มหาวิทยาลัยทราบทุกกระบวนการ ตั้งแต่การขออนุญาตสมัครเข้าศึกษา การขออนุญาตสมัครสอบ ซึ่งหากบุคลากรผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิเข้าศึกษาในสถาบันที่ประสงค์จะเข้าศึกษาแล้ว ให้ดำเนินการขออนุญาตลาศึกษาในเวลาราชการต่อมหาวิทยาลัย และเมื่อมหาวิทยาลัยอนุมัติให้ไปศึกษา จึงจะสามารถเข้าศึกษาในเวลาราชการเต็มเวลาได้ |
|
Q2: มหาวิทยาลัยมีทุนสนับสนุนการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นให้แก่บุคลากรหรือไม่ |
มหาวิทยาลัยมีทุนสนับสนุนการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นให้แก่บุคลากร จากกองทุนพัฒนาบุคลากร โดยจะสนับสนุนทุนการศึกษาในกรณีที่บุคลากรได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยให้ไปศึกษาเท่านั้น ซึ่งหลักเกณฑ์การให้ทุนสนับสนุนการศึกษา กองทุนพัฒนาบุคลากรพิจารณาตามประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ทุนส่งเสริมการศึกษาหรือฝึกอบรม พ.ศ. ๒๕๔๘ |
|
Q3: กรณีที่บุคลากรอยู่ในระหว่างศึกษาในเวลาราชการเต็มเวลา แล้วประสงค์จะไปต่างประเทศในระหว่างที่ลาศึกษาอยู่ จะต้องดำเนินการอย่างไร |
กรณีที่อยู่ระหว่างศึกษาในเวลาราชการเต็มเวลา แล้วประสงค์จะไปต่างประเทศ ไม่ว่าเป็นการไปเพื่อทำวิจัยหรือการไปแบบส่วนตัว บุคลากรต้องยื่นแบบขออนุญาตไปต่างประเทศต่อมหาวิทยาลัย ในกรณีที่ไปต่างประเทศเพื่อดำเนินการวิจัย มหาวิทยาลัยจะไม่ดำเนินการทำคำสั่งให้ไปราชการต่างประเทศ เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีคำสั่งให้บุคลากรไปศึกษาอยู่แล้ว การทำคำสั่งให้ไปต่างราชการประเทศ จึงเสมือนเป็นการเรียกบุคลากรที่อยู่ระหว่างศึกษากลับเข้าปฏิบัติราชการ |
|
Q4: กรณีเป็นเจ้าหน้าที่ประจำตามสัญญาจ้าง ในการจัดหาผู้ค้ำประกันสัญญาจ้าง สามารถให้บิดามารดาค้ำประกันได้หรือไม่ |
กรณีที่บุคลากรเป็นเจ้าหน้าที่ประจำตามสัญญาจ้าง ผู้ค้ำประกันสัญญาจ้างจะต้องเป็นข้าราชการระดับชำนาญการหรือชำนาญงานขึ้นไป หรือข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร ซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจเอก ร้อยเอก เรือเอก หรือเรืออากาศเอกขึ้นไป หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 10,000 บาท หรือพนักงานในภาคเอกชนที่มีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 10,000 บาท ขึ้นไป โดยบิดาหรือมารดาที่จะสามารถค้ำประกันสัญญาจ้างเจ้าหน้าที่ประจำตามสัญญาจ้างได้ ต้องมีคุณสมบัติตามที่กล่าวมาข้างต้น |
|
Q5:กรณีใกล้หมดสัญญาจ้าง และบุคลากรประสงค์จะต่อสัญญาจ้างกับมหาวิทยาลัย ต้องดำเนินการอย่างไร |
กรณีสัญญาจ้างใกล้สิ้นสุดลง และบุคลากรประสงค์ต่อสัญญาจ้างกับมหาวิทยาลัย บุคลากรต้องยื่นความประสงค์ขอต่อสัญญาจ้างอย่างน้อย 60 วันก่อนสิ้นสุดสัญญาจ้าง เพื่อให้มหาวิทยาลัยดำเนินการพิจารณาต่อสัญญาจ้าง และจัดทำสัญญาจ้าง |
|
Q6:กรณีที่มหาวิทยาลัยมีหนังสือให้ไปพิมพ์ลายมือเพื่อตรวจประวัติ ต้องดำเนินการอย่างไร |
บุคลากรที่มหาวิทยาลัยมีหนังสือนำตัวให้ไปพิมพ์ลายมือเพื่อตรวจประวัติ ซึ่งการดำเนินการปกติมหาวิทยาลัยจะมีหนังสือนำตัวให้บุคลากรไปพิมพ์มือเพื่อตรวจประวัติที่ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 ตั้งอยู่ที่เลขที่ 19/75 หมู่ 10 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง ปทุมธานี โดยบุคลากรจะต้องถือหนังสือนำตัวที่มหาวิทยาลัยออกให้ ไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 และให้เจ้าหน้าที่ลงลายมือชื่อรับเอกสารตามแบบรับเอกสาร บุคลากรจะต้องนำแบบรับเอกสารกลับมาและนำส่งให้แก่งานบริหารงานบุคคล ในการนี้ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 จะเรียกเก็บค่าบริการจากบุคลากรจำนวน 100 บาท ซึ่งบุคลากรจะต้องชำระค่าบริการดังกล่าวเอง |
|
Q7:บำนาญข้าราชการมีวิธีการคำนวณอย่างไร |
บำนาญ = (เงินเดือนเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ) หาร 50
บำนาญสมาชิก ก.บ.ข. = (เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x เวลาราชการ) หาร 50 (ไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย) |
|
Q8: บำเหน็จลูกจ้างมีวิธีการคำนวณอย่างไร |
บำเหน็จปกติ = (ค่าจ้างเดือนสุดท้าย x จำนวนเดือนที่ทำงาน) หาร 12
บำเหน็จรายเดือน = (ค่าจ้างเดือนสุดท้าย x จำนวนเดือนที่ทำงาน) หาร 12 แล้วหารด้วย 50 |
|
Q9: บำเหน็จตกทอดมีวิธีการคำนวณอย่างไร |
ถ้าข้าราชการประจำตาย บำเหน็จตกทอดจะคำนวณโดยใช้เงินเดือนเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ
ถ้าผู้รับบำนาญตาย บำเหน็จตกทอดจะคำนวณโดยใช้ (บำนาญรายเดือน + ช.ค.บ.) x 30 – บำเหน็จดำรงชีพ (ถ้ามี) |
|
|
|